ระวังงานเข้า ! กฎหมายการค้ำประกันการทำงานที่ HR ต้องรู้

  • 23 พ.ค. 2566
  • 129734
หางาน,สมัครงาน,งาน,ระวังงานเข้า !  กฎหมายการค้ำประกันการทำงานที่ HR ต้องรู้

สมัยก่อนผมมีหน้าที่อย่างหนึ่ง คือการทำค้ำประกันการทำงานของพนักงานใหม่ และต้องทำค้ำประกันกับพนักงานทุกคนตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ หากค้ำประกันเป็นเงินไม่ได้ก็ต้องใช้บุคคลที่เป็นข้าราชการหรือพนักงานรัฐวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าซี 4 หรือพนักงานบริษัทที่เงินเดือนไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทมาค้ำประกันแทน ผมก็ยังจำตอนที่ตัวเองต้องไปขอให้ญาติเดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อมาค้ำประกันการทำงานให้ได้ และยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่าเหตุใดบริษัทจึงต้องเรียกการค้ำประกัน ทั้งที่งานของผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับการขาย ไม่ได้จะต้องหยิบจับเงินทองของบริษัทแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม ผมก็เข้าใจอยู่ว่า การค้ำประกันนั้นก็ด้วยความต้องการให้มีหลักประกัน สำหรับกรณีที่พนักงานไปทำความเสียหายขึ้นมาแล้วตัวเองไม่รับผิดชอบ หรือค่าความเสียหายนั้นเยอะจนต้องเร่งรัดชดใช้ให้ได้ หรือบางกรณีพนักงานทุจริตเล่นไม่ซื่อก็จะได้เรียกร้องเอาคืนได้

ใครจะค้ำประกันใคร ใครจะอธิบายกับใครอย่างใดต้องไปคุยกันเอง หากไม่มีการค้ำประกันก็ไม่ได้งาน เป็นที่เข้าใจกัน

ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการค้ำประกันการจ้างแรงงานครั้งใหญ่ เริ่มต้นเมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมา เนื่องจากได้มีการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เรื่องค้ำประกันและจำนอง ซึ่งส่งผลอย่างมากต่อการทำสัญญาค้ำประกันการจ้างแรงงาน ข้อตกลงตามสัญญาค้ำประกันใดที่ขัดแย้งกับกฎหมายใหม่นี้จะมีผลเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้เลยทีเดียว แต่คงมี HR หลายท่านที่ยังไม่ทราบ จึงอยากแนะให้มาเรียนรู้กันครับ

ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่แก้ไปเมื่อปี 2551  มีข้อห้ามในเรื่องการค้ำประกันการทำงานไว้ในมาตรา 10 ว่า ห้ามมิให้นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สินอื่นหรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง เว้นแต่ลักษณะหรือสภาพของงานที่ทำนั้น ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้างได้ 

และในกรณีที่นายจ้างเรียกหรือรับหลักประกัน หรือทำสัญญาประกันกับลูกจ้างเพื่อชดใช้ความเสียหายที่ลูกจ้างเป็นผู้กระทำ เมื่อนายจ้างเลิกจ้าง หรือลูกจ้างลาออกหรือสัญญาประกันสิ้นอายุ ให้นายจ้างคืนหลักประกันพร้อมดอกเบี้ย (ถ้ามี) ให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันที่นายจ้างเลิกจ้างหรือวันที่ลูกจ้างลาออก หรือวันที่สัญญาประกันสิ้นอายุ แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ ลักษณะหรือสภาพของงานที่ให้เรียกหรือรับหลักประกันจากลูกจ้าง จะต้องมีลักษณะหรือสภาพของงานที่ลูกจ้างต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินของนายจ้าง ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง โดยประเภทงานที่อาจเรียกเงินประกันการทำงาน หรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้างได้ ได้แก่

- งานสมุห์บัญชี

- งานพนักงานเก็บหรือจ่ายเงิน

- งานควบคุมหรือรับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุมีค่า คือ เพชร พลอย เงิน ทองคำ ทองคำขาวและไข่มุก

- งานเฝ้า ดูแลสถานที่ ทรัพย์สินของนายจ้างหรือที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายจ้าง

- งานติดตามหรือเร่งรัดหนี้สิน

- งานควบคุมหรือรับผิดชอบยานพาหนะ

- งานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการคลังสินค้า ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ให้เช่าทรัพย์ ให้เช่าซื้อ ให้กู้ยืม รับฝากทรัพย์ รับจำนอง รับจำนำ รับประกันภัย รับโอนหรือรับจัดส่งเงิน หรือการธนาคาร ทั้งนี้ เฉพาะลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมเงินหรือทรัพย์สินเพื่อการที่ว่านั้น

 

ในส่วนของหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน กฎหมายกำหนดให้ใช้ได้ 3 ประเภท ได้แก่

(1) เงินสด เรียกเงินค้ำประกันได้ไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ  พร้อมกับให้นายจ้างนำเงินประกันฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น โดยจัดให้มีบัญชีเงินฝากของลูกจ้างแต่ละคน และให้แจ้งชื่อธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น ชื่อบัญชีและเลขที่บัญชี ให้ลูกจ้างทราบภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่รับเงินประกันไว้

(2) ทรัพย์สิน โดยทรัพย์สินที่เรียกหรือรับเป็นหลักประกันได้ ได้แก่ สมุดเงินฝากประจำธนาคารหรือหนังสือค้ำประกันของธนาคาร โดยต้องมีมูลค่าไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ โดยให้นายจ้างเป็นผู้เก็บรักษาหลักประกันไว้เท่านั้น ไม่มีสิทธิแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือกระทำการใด ๆ เพื่อให้ลูกจ้างแก้ไขเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเป็นของนายจ้าง หรือของบุคคลอื่น

(3) การค้ำประกันด้วยบุคคล ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน และวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม นายจ้างอาจจะเรียกรับหลักประกันได้หลายประเภทรวมกัน แต่พอคำนวณจำนวนมูลค่าของหลักประกันทุกประเภทรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60 เท่าของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ

พอแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาญิชย์ใหม่มาแล้ว ก็เกิดแนวทางที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายในเรื่องการค้ำประกันการจ้างแรงงานหลายอย่าง สรุปได้ 8 เรื่อง ซึ่งผมขอสรุปแบบที่เข้าใจได้ง่าย ๆ ต่อไปนี้

1) นายจ้างต้องกำหนดวงเงินให้ชัดเจน ว่าผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบเท่าใด จะเขียนไว้กว้าง ๆ ในสัญญาค้ำประกันให้ผู้ค้ำประกันรับผิดชอบทุกสิ่งทั้งปวงไม่ได้อีกต่อไป แม้จะพอเข้าใจได้ว่าการค้ำประกันนั้นเป็นเรื่องที่ทำไว้เพื่อความเสียหายในอนาคตที่ยังไม่รู้เลยว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่และเมื่อใด หากไม่ทำตามข้อนี้ถือว่าเป็นโมฆะนะครับ

2) ข้อสัญญาค้ำประกันที่นิยมเขียนกันว่า ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชอบอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมนั้นถือเป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้ แถมผู้ค้ำประกันยังสามารถดำเนินการได้อีกหลายอย่างดังนี้

- บอกนายจ้างให้ไปเรียกชำระหนี้จากลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ตัวจริงเสียก่อน เว้นแต่ว่าลูกจ้างกลายเป็นคนล้มละลายโดยคำพิพากษาของศาล หรือกรณีไม่ปรากฎว่าลูกจ้างอยู่แห่งใดในประเทศไทยนี้ ท่านคงจำกรณีหมอฟันมหาวิทยาลัยมหิดลที่หนีหนี้ทุนศึกษาต่อของทางราชการ ไปสุขสบายทำงานในต่างประเทศ แล้วปล่อยให้เพื่อนอาจารย์ด้วยกันรับภาระชำระหนี้ไปแทบกระอักเลือดแทนตัวเอง ก็เข้าข่ายกรณีนี้เช่นกันครับ

- หากพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างมีทางชำระหนี้ และไม่เป็นการยากเย็นแสนเข็ญที่จะบังคับให้พนักงานผู้เป็นหนี้มาชำระหนี้แล้ว นายจ้างก็ต้องบังคับให้ลูกจ้างชำระหนี้ก่อน จะเล่นเอาง่ายมาบังคับผู้ค้ำประกันเลยไม่ได้

- หากลูกจ้างมีเงินหรือทรัพย์สินใดค้ำประกันการทำงานของเขาไว้ นายจ้างต้องบังคับเอากับทรัพย์สินนั้นก่อน

เงื่อนไขตามที่ว่าไปนี้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมาแล้วนะครับ

3) หากลูกจ้างไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้คืนนายจ้าง ลูกจ้างไม่ได้ทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน หรือที่จริงแล้วลูกจ้างก็ชำระหนี้จนครบแล้ว ผู้ค้ำประกันสามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้เลย

4) หากลูกจ้างและนายจ้างได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในชั้นศาลไว้แล้ว ก็เท่ากับหนี้ตามสัญญาจ้างแรงงานแปลงไปเป็นทุน เอ๊ย !! เป็นหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดชอบหนี้นั้นอีกต่อไป

5) หากไม่มีหนี้ที่แท้จริงของลูกจ้างเกิดขึ้น ผู้ค้ำประกันมีสิทธิยกเลิกการค้ำประกันได้ ข้อตกลงที่ระบุว่า การค้ำประกันต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่องหลายคราวอย่างไม่จำกัดเวลา และผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นข้อตกลงที่เป็นโมฆะ

6) นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันมาชำระหนี้ได้ก็ต่อเมื่อ

- ลูกจ้างผิดนัดและนายจ้างต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างผิดนัดชำระ แต่ต้องรอให้หนังสือไปถึงมือของผู้ค้ำประกันก่อนนะครับ 

- หากนายจ้างไม่มีหนังสือไป ผู้ค้ำประกันจะหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน ค่าภาระติดพันที่เกิดขึ้นภายหลังจาก 60 วันนั้นไปเลย

- ผู้ค้ำประกันอาจชำระหนี้ ใช้สิทธิชำระหนี้ตามเงื่อนไขและวิธีการที่นายจ้างตกลงไว้กับลูกจ้างก็ได้ เช่น ตกลงผ่อนชำระกันเป็นรายเดือน ผู้ค้ำประกันก็ใช้เงื่อนไขนี้ได้เช่นกัน

7) เมื่อลูกจ้างได้ชำระหนี้จนครบถ้วน เช่น นายจ้างได้ลดหนี้ให้และลูกจ้างได้ชำระจนครบจำนวนแล้ว ก็ถือว่าผู้ค้ำประกันหลุดพ้นภาระหนี้แล้วนะครับ นายจ้างจะมีเรียกเอาหนี้ส่วนที่ต่างจากการลดหนี้กับผู้ค้ำประกันนั้นมิได้

8) หากนายจ้างยอมผ่อนผันเวลาให้ลูกจ้างชำระหนี้ จะถือว่าผู้ค้ำประกันตกลงกับการผ่อนผันเวลาชำระหนี้ด้วยก็ต่อเมื่อผู้ค้ำประกันตกลงยินยอมด้วยเท่านั้น

 

สุดท้ายแล้ว HR พึงเข้าใจว่าการค้ำประกันการจ้างงานตามกฎหมายใหม่นี้ ส่งผลให้การค้ำประกันการทำงานทำได้อย่างจำกัดยิ่ง ซึ่งก็เท่ากับว่า นายจ้างที่ต้องการการค้ำประกันการทำงานจะต้องพยายามหาวิธีการหรือลูกเล่นใหม่ ๆ ที่สมเหตุสมผลมาใช้ เช่น อาจจะหักเอาเงินโบนัสที่มีสิทธิได้ตามผลงานไปเป็นเงินค้ำประกันการทำงานแทน (เงินโบนัสไม่ถือว่าเป็นค่าจ้าง) 

 

รวมเรื่องราวน่ารู้ในงาน HR จากวิทยากรและที่ปรึกษาด้านการพัฒนาบุคลากร ผู้ผ่านประสบการณ์งานบริหาร HR จากองค์กรในโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ

สอบถามข้อมูลด้าน HR หรือแลกเปลี่ยนมุมมองได้ที่ 0-2514-7472 กด 6

หรือ E-mail : hrbuddy@jobbkk.com (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น)

 

Credit  :  อ.ชัชวาล อรวงศ์ศุภทัต  (Professional Training & Consultancy)

หางานตามสาขาอาชีพ

JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved

jobbkk มีเพียงเว็บเดียวเท่านั้น ไม่มีเว็บเครือข่าย โปรดอย่าหลงเชื่อผู้แอบอ้าง และหากผู้ใดแอบอ้าง ไม่ว่าทาง Email, โทรศัพท์, SMS หรือทางใดก็ตาม จะถูกดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สูงสุด DBD

Top